สร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนด้วยคอนเทนต์แบบ Ecosystem
Ecosystem
การทำการตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจหลายแบรนด์มักจะเอาตัวเองไปผูกติดและให้ความสำคัญอยู่กับ Facebook Page เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีหลายแบรนด์ด้วยซ้ำที่ใช้ช่องทางการสื่อสารเป็น Facebook Page แค่เพียงช่องทางเดียว พอมาในปีนี้ที่ทาง Facebook ได้ทำการปรับลด Reach เคลียร์หน้าฟีดของผู้ใช้ให้เหลืออยู่แต่เรื่องราวของเพื่อนๆ เป็นหลัก แล้วก็ผลักให้หลายๆ เพจตกกระป๋องไปตามๆ กัน เชื่อว่าหลายคนก็ย่อมต้องหาหนทางใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดกันไป
คอนเทนต์แบบ Ecosystem คือหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยลดผลกระทบจากการปรับ Reach ดังกล่าว ด้วยการพึ่งพาแพลตฟอร์ตที่หลากหลายมากขึ้นในการนำมาใช้เป็นช่องทางทำการตลาด นั่นก็คือการที่คุณควรจะมีทั้ง Facebook Page, Instagram, Youtube Chanel, Twitter, Website โดยไม่ปล่อยให้แพลตฟอร์มอย่างใดอย่างหนึ่งมีอิทธิพลมากจนเกินไป หรือก็คือการกระจายความเสี่ยงออกไปนั่นเอง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างยั่งยืน โดยก่อนที่จะไปลุยกับแพลตฟอร์มต่างๆ เรามาดูกันถึงแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพเนื้อหาคอนเทนต์ของผู้บริโภค และวิธีการสื่อสารกับพวกเขาเหล่านั้นกันก่อน เพื่อทำความเข้าใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
1.แนวทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ : วิ่งเข้าหา VS เตรียมตั้งรับ
แนวคิดในการวิ่งเข้าหานั้น ก็คือ การส่งคอนเทนต์ของเราให้เข้าไปอยู่ในสายตาของกลุ่มเป้าหมาย อย่างเช่น หลักของการโฆษณาอย่างที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในทีวี ในยูทูป ป้ายโฆษณาต่างๆ หรือแม้กระทั่งตอนดูหนังในโรง ลักษณะของการวิ่งเข้าหาแบบนี้นั้นเท่ากับว่า จริงๆ แล้วตอนแรกเลย คนจะยังไม่ได้สนใจอะไรในตัวแบรนด์ แต่เบรนด์เลือกที่จะนำเสนอตัวเองด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจ แทรกเข้าไปในความรับรู้ของคน เพื่อทำให้พวกเขาหันมาสนใจ
เมื่อนำมาเทียบกับแนวคิดของการเตรียมตั้งรับ ซึ่งจะเป็นการตอบสนองกับคนที่ให้ความสนใจในตัวแบรนด์อยู่แล้ว ด้วยการสร้างคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเวลาที่มีคนสนใจอะไรบางอย่าง แล้วเราก็หาคำตอบตั้งเอาไว้ เช่น เวลาที่เราเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ จาก Google แล้วเราก็เจอผลลัพธ์มากมายรออยู่เต็มไปหมด นั่นแหละคือคอนเทนต์แบบเตรียมตั้งรับ
2.พฤติกรรมการเสพของผู้บริโภค : ดูไปเรื่อยๆ VS ค้นหาแบบเจาะจง
มาดูในมุมของผู้บริโภคกันบ้าง ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยในตัวคนๆ เดียวก็อาจมีพฤติกรรมทั้งสองแบบได้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาหรือความต้องการในขณะนั้น สำหรับลักษณะของการดูไปเรื่อยๆ ก็อย่างเช่น เวลาตื่นเช้ามาหลายคนก็มักจะเปิดเฟซบุ้กก่อนเป็นอันดับแรก แล้วเลื่อนดูหน้าฟีดไปเรื่อยๆ ไม่ได้สนใจอะไรเป็นพิเศษ แล้วถ้าดันไปเจออะไรที่น่าสนใจก็ค่อยกดเข้าไปดูนั่นเอง
ส่วนการค้นหาแบบเจาะจง ก็จะตรงข้ามกัน อย่างเช่น เวลาที่เราต้องการหาข้อมูลเปรียบเทียบสินค้าหลายๆ ยี่ห้อ เราก็จะเสิร์ชข้อมูลต่างๆ อย่างเจาะจง และไม่สนใจสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความต้องการของเรา
3.ที่มาของ Traffic : เสียเงิน VS ไม่เสียเงิน
สองแนวทางง่ายๆ ที่สามารถเอามาชี้วัดความแข็งแกร่งของยอดการเข้าถึงแบรนด์ได้ดีทีเดียว ลองนึกดูว่าถ้ายอด Traffic ที่คุณมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น คุณได้มันมาจากการจ่ายเงินซะส่วนใหญ่ มันก็ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าเวลาที่คุณหยุดจ่าย ยอดผู้เข้าชมอาจจะไม่ได้สูงเท่าเดิม หรือว่าจริงๆ แล้วแบรนด์ของคุณไม่ได้มีอะไรที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภควิ่งเข้ามาหาเองได้เลย?
4.สื่อที่เลือกใช้ : ต้องเสียเงินใช้ vs รูปแบบผสม vs สื่อของตัวเอง 100%
ในแง่ของสื่อที่คุณเลือกใช้งานอยู่ คุณได้เป็นเจ้าของมันอย่างสมบูรณ์หรือไม่ อย่างเช่น เว็บไซต์ของตัวเอง หรือว่าเช่าเค้าอยู่ เช่น เฟซบุ้กเพจ, อินสตาแกรม หรือรูปแบบสุดท้ายคือการจ่ายเงินเพื่อใช้ เช่น รายการทีวี เป็นต้น
ซึ่งรูปแบบของการใช้สื่อในข้อนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยตรงเลยกับกรณีที่ได้เกริ่นนำมาแล้ว นั่นคือ ถ้าคุณไม่ได้มีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย แถมยังไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนั้นๆ อย่างเต็มตัวอีก ความเสี่ยงทีคุณอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างโดยเจ้าของแพลตฟอร์มตัวจริง ก็จะยิ่งสูงมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องใช้แพลตฟอร์มเหล่านั้นเลย เพราะอาจเป็นการทิ้งการเข้าถึงของคนจำนวนมากที่อาจเข้าถึงแบรนด์ของคุณผ่านช่องทางดังกล่าว ดังนั้น การเลือกใช้สื่อหลายๆ ช่องทางควบคู่กันไป จึงเป็นทางเลือกที่ดีและช่วยบริหารความเสี่ยงได้อย่างยั่งยืน