ย้ายโฆษณาจากทีวีไปโซเชียลมีเดีย กับ 5 องค์ประกอบที่ควรรู้
จากทีวีสู่โซเชียล กับปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ
เพราะพฤติกรรมของคนเราในโลกจริงๆ กับในโซเชียลนั้นต่างกัน พฤติกรรมการเสพสื่อผ่านหน้าจอทีวีกับหน้าจอมือถือก็เช่นกัน นักการตลาดหลายคนอาจคิดว่าแค่โยกเอาโฆษณาที่จากเดิมเคยลงแต่ในทีวี เอามาลงในโซเชียลด้วย ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่แท้จริงนั้นไม่ใช่เลย
ผลการสำรวจของ Fa cebook ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ผู้คนชอบวิดีโอสั้นๆ มากกว่าวิดีโอยาวๆ ซึ่งแค่เหตุผลเพียงข้อนี้ข้อเดียว ก็พอแล้วที่จะบอกได้ว่า แนวทางของโฆษณาในทีวีนั้นต่างจากโฆษณาในโซเชียลมีเดียแบบแทบจะเป็นหนังคนละม้วน เพราะคลิปวิดีโอที่ผู้ชมอาจกดข้าม (Skip) ได้ตลอดเวลานั้น ต้องสามารถสร้างความน่าสนใจเพื่อตรึงคนดูเอาไว้ให้ได้ตั้งแต่ตอนต้นของคลิป ซึ่งแตกต่างจากโฆษณาในทีวีที่เป็นแบบ “บังคับ” ให้ต้องดู จึงสามารถเก็บแก่นหรือไฮไลท์ที่ต้องการนำเสนอเอาไว้ในตอนท้ายๆ ได้
และนี่ก็คือ 5 องค์ประกอบสำคัญที่คุณต้องรู้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้กับวิดีโอโฆษณาของเราบนโลกโซเชียล
1.ส่งเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ หรือแบรนด์ของคุณออกไปให้เร็วที่สุด
และต้องทำอย่างชัดเจนด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมจะได้รับสารที่คุณต้องการจะสื่อไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนผู้ชมจะกดข้ามวีดีโอไป และถ้าคลิปของคุณสามารถดึงความสนใจของผู้ชมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าใครก็คงอยากดูต่อจนจบอย่างแน่นอน
2.สร้างความชัดเจนให้กับเนื้อหาโดยใช้ข้อความและรูปภาพเป็นหลัก
ในการใช้งานโซเชียลต่างๆ ทุกคนใช้สายตามากกว่าหู ดังนั้น ภาพและข้อความจึงเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนมากกว่าเสียง แถมแพลตฟอร์มต่างๆ ในยุคนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานตั้งค่าปิดเสียงโฆษณาได้ด้วย แล้วถ้าข้อมูลสำคัญของคุณดันไปอยู่ในเสียงล่ะก็ ความรับรู้ของผู้ชมในส่วนนี้จะหายไปเลย
3.ปรับอัตราส่วนภาพให้เหมาะกับขนาดหน้าจอ
หลายคนมาตกม้าตายเอาในข้อนี้ กลายเป็นว่าข้อความสำคัญหายกับขอบหน้าจอเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น ก่อนลงคลิปอย่าลืมกำหนดค่าอัตราส่วนกันให้ดี เช่น ใน Facebook ให้ใช้อัตราส่วนที่ 2:3 และอัตราส่วนที่ 4:5 สำหรับ Instagram
4.ระยะเวลาที่เหมาะสม
ผลการสำรวจของ Facebook ระบุว่า ในคลิปวีดีโอส่วนใหญ่มักจะแสดงไฮไลท์สำคัญของเนื้อหาในช่วง 3 วินาทีแรก 47% และในช่วง 10 วินาทีรก มากถึง 74% โดยความยาวคลิปที่มีคุณภาพสูงสุดที่แสดงในหน้าฟีดคือ 6 วินาที และ 15 วินาทีในสตรีม
5.เปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง
ด้วยระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด การเล่าเรื่องแบบเดียวกับโฆษณาในทีวีอาจไม่เวิร์คอีกต่อไป คุณอาจลองเล่าเรื่องให้รวบรัดมากขึ้น, ตัดเอาตอนที่สำคัญๆ มา หรือเปิดเรื่องด้วยตอนจบซึ่งเป็นใจความหลักของโฆษณาไปเลย